Header Ads

Header ADS

กระทรวงวัฒนธรรม” ปลื้ม ได้รับรางวัลผู้ใช้โซเชียลยอดเยี่ยม ติดโผ Finalist 1 ใน 5

“กระทรวงวัฒนธรรม” ปลื้ม ได้รับรางวัลผู้ใช้โซเชียลยอดเยี่ยม ติดโผ Finalist 1 ใน 5  หน่วยงานรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่ทำผลงานบน “โซเชียลมีเดีย” สูงสุด ปี 2566 ปลื้มมีคนกดไลฟ์ กดแชร์ มีส่วนร่วม รวมถึงแนะนำให้กับบุคคลอื่นในการอ่านเนื้อหาต่างๆ สามารถนำข้อมูลไปปรับใช้ในการทำงานได้


เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงวัฒนธรรม เข้าร่วมงานประกาศรางวัล Thailand Social Awards ครั้งที่ 12 โดยมีผู้จัดงานคือ บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวงวัฒนธรรม ได้มีชื่อได้รับรางวัล Finalist 1 ใน 5 ของรางวัล Best Brand Performance on Social Media สาขา Government & State Enterprise เป็นแบรนด์ที่ทำผลงานยอดเยี่ยมบนโซเชียลมีเดีย สาขากลุ่มหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหน่วยงานที่เข้ารอบ 5 หน่วยงานสุดท้าย ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงวัฒนธรรม, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรมเคยได้รับการเลือกให้เป็น 10 อันดับแรกของกลุ่มหน่วยงานรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ใน 29 กลุ่มธุรกิจที่ทำผลงานสูงสุดบนโลกโซเชียลครึ่งแรกของปี 2566 (วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2566) ซึ่งในปีนี้ รางวัลอันดับ 1 ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ในโลกของการสื่อสารยุคใหม่ทำให้ การขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมเป็นสิ่งท้าท้ายมาก ยิ่งภายหลังเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 ต้องมีการรักษาระยะห่างในสังคม หนึ่งในเป้าหมายของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) คือ การให้คนไทยเข้าถึงข้อมูลทางวัฒนธรรมผ่านแพล็ตฟร์อมออนไลน์ และแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมมากขึ้น ทำให้ วธ.มีการปรับตัวเชิงรุกเพื่อเปิดให้ประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ เข้าถึงเนื้อหางานด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรมทางโลกโซเซียลมีเดียผ่านทุกช่องทางมากขึ้น อาทิ  Facebook, Instagram, TikTok, Twitter และ YouTube

สำหรับเนื้อหางานด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรมทางโลกโซเซียลมีเดียในสังคมไทยผู้รับสารมีการเปิดรับมากขึ้น  โดยจะเน้นการสื่อสารเข้าใจง่าย ทำคอนเทนต์ที่ดี ถูกใจผู้ชมผู้ฟัง มีความทันสมัยทันต่อสถานการณ์หรือเหตุการณ์ของสังคม ยกตัวอย่างการนำเสนอข้อมูลข่าวสารกิจกรรม โครงการ  องค์ความรู้ เกี่ยวกับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ งานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติทั้ง 4 ภูมิภาค การสนับสนุน SOFT POWER ความเป็นไทยไปสู่สายตาชาวโลก รวมไปถึงการเปิดช่องทางออนไลน์ในการเปิดตลาดเพื่อช่วยชุมชนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมไทย (CPOT) ทางช่องทางออนไลน์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง  เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดกระแสความสนใจในการเข้ามาติดตามข้อมูลทาง Social Media ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เพื่อยกระดับสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ทุกแพลตฟอร์มสื่อดิจิทัล ของ วธ. มีจำนวนผู้ติดตาม หรือ Follower รวมถึงจำนวนความสนใจที่บุคคลมีต่อเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงออกมาจากยอดวิว และจำนวนข้อความเพิ่มมากขึ้นทุกแพลตฟอร์ม ในเชิงคุณภาพ มีผู้ที่แสดงความคิดเห็น ส่งต่อเนื้อหา สนับสนุนเนื้อหากดไลฟ์ กดแชร์ มีส่วนร่วม รวมถึงแนะนำให้กับบุคคลอื่นในการอ่านเนื้อหาต่าง ๆ สามารถนำข้อมูลไปปรับใช้ในการทำงานได้

งานประกาศรางวัล Thailand Social Awards คือ งานประกาศรางวัลโซเชียล เพื่อเชิดชูผู้ใช้โซเชียลมีเดียยอดเยี่ยม ในสาขาต่างๆ กว่า 32 สาขา มากกว่า 300 รางวัล ถือเป็นงานประกาศรางวัลโซเชียลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศที่ถูกจัดขึ้น ตั้งแต่ปี 2555 เพื่อส่งเสริมการใช้โซเชียลมีเดียอย่างสร้างสรรค์ ยกระดับและให้ความสำคัญกับวงการโซเชียลที่เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง จัดขึ้นโดยบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเซียลมีเดีย จัดขึ้นเพื่อยกย่องแบรนด์ อินฟลูเอนเซอร์ และบุคคลในวงการบันเทิงที่ทำผลงานยอดเยี่ยมบนโลกโซเชียลในสาขาต่างๆ ผ่านการวัดประสิทธิภาพการทำงานของแบรนด์บนโซเชียลผ่านเกณฑ์ Social Metric for Brand วัดจากช่องทางของตัวเอง (Own Channel) และช่องทางจากการที่คนอื่นพูดถึงแบรนด์ (Earn Channel) ใน 5 แพลตฟอร์มหลัก คือ Facebook, Instagram, TikTok, X และ YouTube ซึ่งในทุกๆ ช่องทางจะมีน้ำหนักการให้คะแนนที่แตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสม โดยคะแนนจะถูกคำนวณและตามอ้างอิงตามกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งในส่วนของ Owned และ Earned โดยให้น้ำหนักคะแนนบน Owned มากกว่า และใช้องค์ประกอบของ Fundamental Factors และ Analytical Factors ร่วมด้วยกันหลังจากนั้นตัวเลขทั้งหมดจะถูกนำมาคำนวณ Percentile ของแต่ละอุตสาหกรรม 

ความพิเศษในปีนี้คือ เกณฑ์การตัดสินที่ถูกเพิ่มเติมมุมมองด้านจริยธรรม และความเหมาะสมของผู้รับรางวัลจากคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขา (Ethics Mentor) เพื่อให้ผลการตัดสินออกมาอย่างสมบูรณ์แบบในทุกมิติ อีกทั้งยังได้ปรับปรุงเกณฑ์การวัดผลในการประกาศรางวัล Thailand Social Awards ครั้งที่ 12 ร่วมกับคณะที่ปรึกษาจากหลากหลายแวดวง โดยเกณฑ์การวัดผลผู้ทำผลงานยอดเยี่ยมบนโซเชียลมีเดียในครั้งนี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 เกณฑ์ คือ Social Metric for Brand  ใช้ในการวัดผลประสิทธิภาพการทำงานบนโซเชียลมีเดียของแบรนด์, Social Metric for Content ใช้ในการวัดผลประสิทธิภาพการทำงานบนโซเชียลมีเดียของเนื้อหารายการ และ Social Metric for Creator ใช้ในการวัดผลประสิทธิภาพการทำงานบนโซเชียลมีเดียของบุคคลที่มีผลงานหรือมีชื่อเสียง ซึ่งในแต่ละกลุ่มรางวัลจะมีวิธีการเก็บข้อมูลและการคำนวณคะแนนที่แตกต่างกันออกไป โดยทุกเกณฑ์การวัดผลจะถูกประเมินด้านความเหมาะสมของผู้รับรางวัลด้วยหลักการ 7 ข้อเป็นลำดับสุดท้าย ได้แก่

- Transparency and Disclosure ผู้ทำคอนเทนต์มีความโปร่งใสต่อการรับผลประโยชน์

- Accuracy and Fact-Checking ผู้ทำคอนเทนต์ต้องมีความรับผิดชอบต่อความถูกต้องของข้อมูลที่นำเสนอ และพยายามหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลที่ผิดหรือสร้างความเข้าใจผิด

- Accountability and Corrections มีความรับผิดชอบต่อความผิดพลาด และยินดีที่จะแก้ไขให้ถูกต้อง

- Respect for Privacy เคารพต่อความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือข้อมูลส่วนบุคคล

- Respect for Audience, Community and Cultural เคารพต่อผู้ติดตาม ชุมชม และสังคม ด้วยการไม่ใช้ภาษาหรือสร้างคอนเทนต์ที่เป็นการละเมิดความรู้สึก คุกคาม หรือด้อยค่าชุมชน และสังคมนั้น ๆ

- Responsible Use of User-Generated Content เคารพต่อทรัพย์สินทางปัญญาในการผลิตคอนเทนต์ ด้วยการขออนุญาตหรือให้เครดิตอย่างถูกต้อง

- Compliance with Platform Policies ไม่ละเมิดมาตรฐานของแพลตฟอร์ม


No comments

Powered by Blogger.